ฝังยาคุม

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว แน่นอนว่ามีหลากหลายวิธีทั้งการกินยาคุม ฉีดยาคุม ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ไปจนถึงการฝังยาคุม และแน่นอนค่ะวันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่องเกี่ยวกับการฝังยาคุมกัน ว่าฝังแล้วจะมีผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน? ป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ฝัง 1 ครั้งอยู่ได้กี่ปี? หรือแม้แต่ฝังแล้วจะอ้วนขึ้นไหม? ไปดูกันเลยค่ะ…

ยาคุมกำเนิดแบบฝังคืออะไร

ฝังยาคุม

ยาคุมกำนิดแบบฝัง หรือ Implantable Contraceptive หรือ Contraceptive Implant เป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ที่มีความสามารถในการออกฤทธิ์ยาวนาน 3-5 ปี มีลักษณะเป็นหลอดบรรจุฮอร์โมนขนาดเล็กยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในบรรจุฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (Progestin) ซึ่งจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากถึง 98%

การทำงานของยาคุมกำเนิดแบบฝัง

ยาคุมกำเนิดแบบฝัง เป็นหลอดขนาดเล็กที่บรรจุฮอร์โมนโพรเจสติน (Progestin) ที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์เอาไว้ เมื่อหลอดยาคุมถูกฝังอยู่ในตัวเรา ฮอร์โมนโพรเจสตินจะค่อยๆถูกปล่อยออกมาจากหลอดยาคุมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปยับยั้งการพัฒนาหรือเติบโตของฟองไข่ในรังไข่ของผู้หญิง ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ และไม่มีไข่เพื่อไปปฏิสนธิกับอสุจิได้ นอกจากส่งผลไม่ให้ไข่ตกแล้ว ยังมีกระบวนการผลิตเมือกเหนียวข้นที่ปากมดลูก ส่งผลให้ตัวอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยากยิ่งขึ้น

ตำแหน่งการฝังยาคุม

ฝังยาคุม

การฝังยาคุม แพทย์จะฝังหลอดยาคุมที่บริเวณใต้ท้องแขนท่อนบน โดยจะมีรอยแผลผ่าเพียงเล็กน้อย

วิธีการฝังยาคุม

  1. แพทย์ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนท่อนบนจุดที่จะทำการฝังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  2. ฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการเจ็บปวด
  3. ใช้เข็มเปิดแผลเพียงเล็กน้อย และสอดแท่งนำหลอดฮอร์โมนเข้าไปในเข็ม เพื่อสอดหลอดฮอร์โมนเข้าใต้ผิวหนัง
  4. นำเข็มและแท่งนำหลอดยาออก แล้วทำการปิดปากแผลด้วยพลาสเตอร์เล็กๆ พร้อมมันแผลทับอีกชั้น
  5. เมื่อทำแผลเสร็จ แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวด รับประทานเมื่อมีอาการปวด
  6. กลับบ้านได้

ฝังยาคุมแล้วจะออกฤทธิ์ตอนไหน

ฝังยาคุม

ยาคุมกำเนิดแบบฝังสามารถออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันทีเมื่อฝัง หากเป็นการฝังในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หากฝังนอกเหนือจากในช่วง 5 วันแรกในการมีประจำเดือน ตัวยาจะสามารถออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ภายหลังการฝัง 7 วันขึ้นไป

นำยาคุมที่ฝังอยู่ออกได้ตอนไหน

ยาคุมกำเนิดแบบฝังจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดที่เลือกใช้ เมื่อครบกำหนดอายุการใช้งานควรนำออกแล้วฝังใหม่ หรือหากต้องการมีบุตรก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอเอาออกได้เลยทันที

สถานที่ที่สามารถฝังยาคุมได้

  • โรงพยาบาล
  • คลินิกที่มีแพทย์ที่ผ่านอบรมและรับรองในเรื่องของการฝังยาคุมโดยเฉพาะ

กรณีการฝังยาคุมและถอด ไม่สามารถทำได้โดยแพทย์ทั่วไป จะต้องเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมและผ่านการรับรองอย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น

ผลข้างเคียงจากการฝังยาคุม

  • ประจำเดือนมาไม่ตรง
  • ประจำเดือนขาด
  • อารมณ์แปรปรวน
  • คลื่นไส้
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง
  • เจ็บเต้านม เมื่อกด
  • สิวขึ้น
  • บวมน้ำ
  • น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ในบางราย
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • ยาคุมกำเนิดแบบฝัง อาจมีผลต่อปฏิกิริยาของยาชนิดอื่นๆ

ผลข้างเคียงดังกล่าวอาจพบได้ในบางรายเท่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงควรเข้าปรึกษาแพทย์อย่างเร็วที่สุด

การฝังยาคุมกำเนิดเป็นเพียงตัวช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์แบบชั่วคราวเท่านั้น เพื่อการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นควรป้องกันด้วยวิธีคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย

อ่านบทความเพิ่มเติม